รับบริจาคเอกสารจดหมายเหตุ |
|
เขียนโดย ประชาสัมพันธ์
|
17/08/2009 |
สำนักบรรณสารการพัฒนา ได้จัดตั้งหอจดหมายเหตุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ขึ้น ในปีพุทธศักราช 2551 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บและอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ และเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ รวมทั้งจัดแสดงสิ่งของที่มีคุณค่าทางจดหมายเหตุ เพื่อแสดงประวัติ พัฒนาการ และการดำเนินงานของสถาบัน และเผยแพร่ชื่อเสียงการเป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงเพื่ออบรมวิชาเศรษฐกิจและการบริหารสำหรับผู้ที่จะมีหน้าที่พัฒนาประเทศ และเป็นสถาบันระดับบัณฑิตศึกษาแห่งเดียว ที่มุ่งด้านพัฒนบริหารศาสตร์เป็นหลักหอจดหมายเหตุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งอยู่ในช่วงจัดตั้ง กำลังแสวงหารวบรวม เอกสารจดหมายเหตุและสิ่งของที่มีคุณค่าทางจดหมายเหตุของสถาบัน ในโอกาสนี้ จึงใคร่ขอความร่วมมือจากทุกท่าน มาร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของนิด้าด้วยการมอบ เอกสาร หนังสือ สิ่งของ ภาพถ่าย ฯลฯ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของสถาบัน เพื่อจัดแสดง และจัดเก็บไว้ ณ หอจดหมายเหตุ ต่อไป
ท่านสามารถมอบเอกสารจดหมายเหตุได้ที่ กลุ่มงานจดหมายเหตุ สำนักบรรณสารการพัฒนา ชั้น 4 หมายเลขโทรศัพท์ 02 727-3760-62 ในเวลาราชการ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เอกสารจดหมายเหตุคืออะไร ข้อมูลทุกรูปแบบที่หน่วยงานผลิตขึ้นใช้ในการปฏิบัติงาน เมื่อเลิกใช้แล้วแต่ยังมีคุณค่าในฐานะเป็นข้อมูลชั้นต้นที่แสดงถึงการดำเนินงานและพัฒนาการของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของหน่วยงานและของประเทศอีกด้วย เอกสารจดหมายเหตุแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ1. เอกสารจดหมายเหตุประเภทลายลักษณ์อักษร คือ เอกสารที่สื่อความหมายเนื้อหาด้วยตัวเขียนหรือตัวพิมพ์ เช่น เอกสารโต้ตอบ เอกสารการประชุม แผนงาน โครงการ รายงาน บทความ ฯลฯ2. เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ คือ เอกสารที่สื่อความหมายด้วยภาพและเสียง เช่น ภาพถ่าย ฟิล์มเนกาตีฟ สไลด์ โปสเตอร์ ปฏิทิน บัตรอวยพร แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ ฟิล์มภาพยนตร์ ฯลฯ3. เอกสารจดหมายเหตุประเภทแผนที่ แผนผัง เช่น แผนที่ แผนผัง แบบแปลน พิมพ์เขียว ฯลฯ4. เอกสารจดหมายเหตุประเภทวัสดุคอมพิวเตอร์ คือ เอกสารที่บันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลที่บันทึกไว้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น ดิสก์เกตท์ ซีดี วีซีดี ฯลฯ
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. 2548. คู่มือการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์อักษร. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร.
|
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( 25/07/2016 )
|